วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ เริ่มก่อตั้งเป็นองค์กรการกุศลในรูปของสมาคมชาวพุทธ ดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมทางพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือการสร้างวัดไทยในประเทศนอร์เวย์ โดยกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้ามาทำงานได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายให้พักอาศัยอยู่ถาวรในประเทศนอร์เวย์ ส่วนมากเป็นสุภาพสตรี ร่วมด้วยชาวนอร์เวย์ที่แต่งงานมีครอบครัวเป็นคนไทยและชื่นชอบวัฒนธรรมประเพณีไทย พุทธศาสนาและความเชื่อถือแม้จะไม่ประกาศตัวต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย แต่ไม่ได้ปฏิเสธพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนต่อเนื่องเป็นอย่างดี ได้ปรึกษากันประเด็นการสร้างวัดไทยในประเทศนอร์เวย์
เริ่มด้วยการจัดตั้งเป็นสมาคมมีคณะกรรมการบริหาร จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับสหภาพชาวพุทธในประเทศนอร์เวย์ถูกต้องตามกฏหมาย เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ใช้ชื่อว่า “สมาคมชาวพุทธไทย” มีรูปวงล้อธรรมจักรเป็นตราสัญลักษณ์ มีจำนวนสมาชิกเริ่มต้นในวันจดทะเบียนจำนวน ๑๖ คน ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๓ มีสมาชิกทั่วประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากกว่า ๔,๐๐๖ คน
การบริหารดำเนินงานของสมาคมฯมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้รับการยอมรับส่งเสริมสนับสนุนตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศในประเทศนอร์เวย์ ที่มีความประสงค์อยากจะให้มีวัดไทยเกิดขึ้นในประเทศนอร์เวย์ อีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศนอร์เวย์ ตามอัตราส่วนของประชาชนที่อาศัยอยู่ถาวรในประเทศนอร์เวย์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกกับสมาคมฯเพื่อนำเสนอขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามสิทธิ์ทางกฎหมาย เป็นรายได้หลักสนับสนุนให้วัดมีความเจริญได้อย่างมั่นคงถาวร |
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นปีที่ ๓ สมาคมฯได้เช่าอาคารชุดและบ้านเป็นที่พักชั่วคราว อาราธนาพระธรรมทูตเดินทางเข้าประเทศนอร์เวย์อยู่จำพรรษาช่วงฤดูกาลพรรษา ๓ เดือน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันได้อย่างใกล้ชิดรอบคอบในเรื่องการสร้างวัดให้มีความสมบูรณ์เหมาะสมโดยยึดแนวทางแห่งพระธรรมวินัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศนอร์เวย์เกี่ยวกับกฎระเบียบการตรวจคนเข้าเมืองในขณะนั้น อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเข้าประเทศนอร์เวย์อยู่ไม่เกิน ๙๐ วัน ไม่ต้องขอประทับวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูต
พ.ศ. ๒๕๓๙ สถานภาพทางการเงินของสมาคมฯมีความมั่นคงพอซื้อผ่อนบ้านพร้อมที่ดิน ๑๑๒๒ ตารางเมตร ที่อยู่ถนน Torstad?sen 16, Billingstad.ราคา ๑,๓๒๐,๐๐๐.๐๐ โครน(หนึ่งล้านสามแสนสองหมื่นโครน) ทำเป็นวัดไทยนอร์เวย์ถาวรแต่บัดนั้น เจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาประทานนามว่า “วัดไทยนอร์เวย์”
|
พ.ศ. ๒๕๓๙ มหาเถรสมาคมได้อนุมัติให้พระครูวิเทศธรรมวิทิต(สำรวจ กมโล) สังกัดวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พระธรรมทูตสายต่างประเทศประจำวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน ย้ายเข้าประจำประเทศนอร์เวย์เพื่อปฏิบัติศาสนกิจถาวร และ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้อนุมัติให้พระมหาคำสิงห์ คเวสโก สังกัดวัดเศวตฉัตรวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เป็นพระธรรมทูตช่วยงานประจำวัดไทยนอร์เวย์เพิ่มอีก ๑ รูป การปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตเป็นไปตามปกติ เพื่อพัฒนาวัดไทยนอร์เวย์ให้เกิดความสมบูรณ์มีความคืบหน้าโดยลำดับ ปัญหาอุปสรรคได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างถูกทาง ตามครรลองแห่งพระธรรมวินัย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์จากประเทศไทยจำนวน ๙ รูป ได้เมตตาเดินทางตรวจเยี่ยมและประกอบพิธีเปิดวัดไทยนอร์เวย์อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๒
|
พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นปีที่ ๑๒ ของการดำเนินงานสร้างพัฒนาวัดไทยนอร์เวย์ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยสมาคมชาวพุทธไทย ได้ลงนามซื้อที่ขยายวัดใหม่เนื้อที่ ๑๖,๘๐๐. ตารางเมตร( ๑๐ ไร่เศษ) ราคารวมค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ผู้ถือครอง ๒,๐๐๐,๕๒๖.๐๐โครน(สองล้านห้าร้อยยี่สิบหกโครน)ที่อยู่ถนน Trondheimsvegen 582, 2016 Frogner.ห่างจากกรุงออสโล ๓๒ กิโลเมตร อยู่ระหว่างกรุงออสโล เมืองหลวงประเทศนอร์เวย์กับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงออสโล ห่างจากท่าอากาศยานฯ ๑๙ กิโลเมตร เป็นฟาร์มขนาดเล็กอยู่กลางทุ่งนา ไม่ติดบ้านพักเพื่อนบ้านข้างเคียงโดยรอบทั้งสี่ทิศ ติดถนนสายรองยวดยานสัญจรผ่านไปมาไม่พลุกพล่าน อยู่ในพื้นที่ทำเลและสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบเป็นปฏิรูปเทศเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นวัดได้โดยสมบูรณ์ |
ทางวัดได้ทำโครงการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ การเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมไทยในประเทศนอร์เวย์ เสนอขออนุญาตต่อทางการประเทศนอร์เวย์ และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ตามที่เสนอขอ ซึ่งมีความสอดคล้องกับสถิติหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เคยนำเสนอข่าวการสร้างวัดไทยนอร์เวย์ในปีแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่มีผู้สนับสนุนให้ดำเนินการได้ร้อยละ ๔๙ แม้ในการขออนุญาตจากเพื่อนบ้านข้างเคียงบริเวณรัศมีโดยรอบต่างเห็นด้วยไม่มีคัดค้าน นับเป็นมติยอมรับสถานภาพความเป็นวัดไทยอย่างสมบูรณ์จากประชาคมท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก อาจถือเป็นกรณีพิเศษสำคัญยิ่งสำหรับวัดไทยและงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ อันเป็นภาคส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย
วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตามอบให้พระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ประธานคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร(ศ.ต.ภ.) พระธรรมสิทธินายก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรรมการสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ พร้อมคณะสงฆ์จากประเทศไทย ร่วมด้วยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างประเทศในประเทศนอร์เวย์และประเทศใกล้เคียง ประกอบพิธีเปิดวัดไทยนอร์เวย์ ณ สถานที่ใหม่และวางศิลาฤกษ์สร้างอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เพื่อเป็นอาคารอเนกประสงค์เหมาะสมกับการใช้สอยตามวัตถุประสงค์ ได้ขายที่อยู่เก่าในปีเดียวกันที่ย้ายเข้าอยู่ปฏิบัติศาสนกิจในสถานที่ใหม่ |
การดำเนินการพัฒนาในลำดับแรกในเนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษดังกล่าว ได้เข้าปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังเดิมเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้นครึ่ง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ปรับปรุงเสร็จก่อนพิธีเปิดและย้ายเข้าอยู่จริง สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๑,๒๕๐.๐๐๐.๐๐ โครน(หนึ่งล้านสองแสนห้าหมื่นโครน) เมื่ออาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ สร้างเสร็จสมบูรณ์เปิดใช้แล้ว อาคารหลังนี้จะใช้เป็นกุฏิสงฆ์แยกเขตอิสระเป็นสัดส่วนสำหรับเป็นที่พักสงฆ์โดยเฉพาะ ในเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ได้สร้างทางเข้าวัดใหม่เพื่อความปลอดภัยตามคำแนะนำของคอมมูนและสร้างลานจอดรถสามารถจอดรถยนต์ส่วนบุคคลได้เกินกว่า ๑๐๐ คัน ใช้งบประมาณกว่า ๕๖๗,๐๐๐.๐๐ โครน(ห้าแสนหกหมื่นเจ็ดพันโครนถ้วน)
อาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เป็นอาคารอเนกประสงค์ขนาดกลางสร้างได้ตามข้อจำกัดและเงื่อนไขที่คอมมูนอนุญาต เป็นอาคาร ๓ ชั้น กว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๓ เมตร สูงจากระดับพื้นดินถึงสันหลังคา ๑๔ เมตร พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ ๘๙๗ ตารางเมตร ลักษณะอาคารทรงไทยประยุกต์สอดคล้องกับศิลปะท้องถิ่น ออกแบบคำนวณการก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวนอร์เวย์ สามารถรองรับคนเข้าใช้พื้นที่พร้อมกันประมาณ ๕๐๐ คน โดยที่เป็นอาคารสาธารณะเพื่อรองรับคนจำนวนมากใช้ประโยชน์ต่างกันรวมอยู่ในอาคารหลังเดียว จึงได้รับการออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัวทั่วถึงครอบคลุมทั้งอาคาร |
การแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ของตัวอาคารประกอบด้วย ชั้นบนทั้งชั้นไม่มีเสากลางกำหนดให้เป็นอุโบสถเพื่อความสมบูรณ์แห่งสังฆกรรมและศาลาปฏิบัติธรรม ส่วนที่เหลือสองชั้นแบ่งเป็นห้องสมุด ห้องครัว ส่วนรับประทานอาหาร ห้องโถงออกแบบให้สามารถเลื่อนฝาผนังดัดแปลงได้ ห้องพักรับรองแขกทางไกลเยี่ยมวัดสามารถพักนอนค้างคืน ห้องเด็กเล่น ห้องพัสดุห้องน้ำและลีฟท์สำหรับคนพิการ ตามกฎระเบียบที่กำหนดให้อาคารสาธารณะประเภทนี้จะต้องมีไว้สำหรับคนพิการ ในอาคารหลังนี้จึงประกอบด้วยห้องน้ำ ๑๑ ห้อง ลีฟท์ ๑ ตัว
ประมูลรับงานก่อสร้างโดยบริษัทเอกชนชาวนอร์เวย์ ราคาประมูล ๑๖,๔๘๐,๐๐๐.๐๐ โครน(สิบหกล้านสี่แสนแปดหมื่นโครน) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนอกจากได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปหรือจากการจัดงานบุญประเพณีตามเทศกาล และเงินสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศนอร์เวย์บางส่วนแล้ว ธนาคารท้องถิ่นชื่อ Lillestr?m Banken ยินดีอนุมัติเงินกู้ ๑๔,๐๐๐.๐๐๐.๐๐ โครน(สิบสี่ล้านโครน) การพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดที่เหลือโดยรอบอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯและกุฏิสงฆ์ เป็นองค์ประกอบเสริมทำให้วัดดูเรียบร้อยเป็นระเบียบอันจักนำไปสู่ความสุขสงบเย็นใช้งบประมาณกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ โครน(สองล้านโครน) |
เงื่อนไขที่ต้องจัดดำเนินการให้ได้เกณฑ์มาตรฐานตามที่คอมมูนกำหนด
ก่อนการอนุมัติให้สร้างเป็นวัดไทยสมบูรณ์ตามที่เสนอขอ ๘ รายการ ประกอบด้วย
(๑) สำรวจให้แน่ใจว่าไม่มีวัตถุโบราณฝังอยู่ใต้ดิน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา
(๒) สำรวจความหนาแน่นของดินสามารถรองรับน้ำหนักตัวอาคาร ๓ ชั้นได้
(๓) สร้างกำแพงกันเสียงรถยนต์จากถนนเพื่อปรับระดับเสียงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
(๔) สร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากตัวอาคารก่อนการระบายลงสู่คลองสาธารณะ
(๕) ต่อเชื่อมไฟฟ้าใช้เองจากสายไฟฟ้าแรงสูง
(๖) สร้างระบบปรับอากาศถ่ายเทภายในตัวอาคารให้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์
(๗) สร้างลานจอดรถยนต์ให้สามารถรองรับรถยนต์ได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คัน
(๘) สร้างประตูเข้าวัดใหม่เพื่อความปลอดภัย |
ด้วยทำเลที่ตั้งมีภูมิทัศน์เหมาะสมสงบเงียบไม่พลุกพล่านด้วยยวดยานพาหนะ การเดินทางสัญจรไปมาสะดวกทุกฤดูกาล บริเวณโดยรอบทั้งสี่ทิศเหมาะสมเป็นปฏิรูปเทศด้วยประการทั้งปวงและด้วยความพร้อมทางถาวรวัตถุ จึงกำหนดพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตเพื่อความสมบูรณ์แห่งสังฆกรรม ฉลองอาคารอเนกประสงค์“สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)” และฉลองความสำเร็จการสร้างวัดไทยนอร์เวย์ในวันที่ ๕-๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธาน ทรงประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิต ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
รวมระยะเวลาที่ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างมากเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี
ในการสร้างวัดไทยนอร์เวย์และมีพัฒนาการคืบหน้ามาโดยลำดับ มีเอกลักษณ์โดดเด่นปรากฏชัดบ่งบอกความเป็นวัดไทยที่สมบูรณ์สามารถเชิดชูพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีไทยแก่ชาวต่างชาติได้อย่างสง่างาม ได้รับอนุมัติจากทางการประเทศนอร์เวย์ ให้ดำเนินการเป็นพุทธสถานได้ตามวัตถุประสงค์โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ถึงบัดนี้ทรัพย์สินของวัดไทยนอร์เวย์มีมูลค่ารวมประมาณ ๒๕ ล้านโครน(ประมาณ ๑๓๐ ล้านบาท) |
ในการพัฒนาวัดภายหลังประกอบพิธีเปิดผ่านไปแล้ว ได้ปรับปรุงภูมิทรรศน์พื้นที่บริเวณโดยรอบวัดปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยปลูกหญ้าปลูกต้นไม้บริเวณวัดและปลูกเป็นแนวรั้วบอกเขตติดถนนใหญ่ ปรับพื้นที่บริเวณตัวอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ ปูพื้นคอนกรีตบริเวณโดยรอบตัวกุฏิที่พักสงฆ์เชื่อมอาคารอเนกประสงค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทำให้ให้มีพื้นที่ใช้สอยเวลาจัดงานบุญเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มความสะดวกในการปฏิบัติงาน
ส่วนที่เป็นถาวรวัตถุได้ดำเนินการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของกุฏิที่พักสงฆ์เป็นสำนักงานกลางของวัด ศร้างศาลาหลวงพ่อแจ้งประดิษฐานพระพุทธรูปไม้กลางสนามหญ้าขนาด ๕ คูณ ๕ เมตรลักษณะเปิดโปร่งทั้ง ๔ ด้าน สร้างศาลานุสรณ์ขนาด ๕ คูณ ๕ เมตรติดกระจกใสโดยรอบ ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สร้างโรงเก็บรถประจำวันวัดจอดรถได้ ๓ คันพร้อมกัน
กิจกรรมวัดไทยนอร์เวย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การจัดบรรพชาอุปสมบทเยาวชนเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาในช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียนฤดูร้อนปีละ ๑ ครั้ง หรือเวลากุลบุตรผู้มีศรัทธาถึงพร้อม ทั้งที่เป็นคนไทยหรือมีมารดาบิดาเป็นคน ๒ สัญชาติหรือคนสัญชาตินอร์เวย์ การจัดอบรมปฏิบัติธรรมสำหรับอุบาสกอุบาสิกาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การประกอบพิธีประเพณีเผยแพร่วัฒนธรรมไทยตามเทศกาลสำคัญในรอบปีตามกำหนดในปีปฏิทิน |
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ถือเป็นเหตุการณ์พิเศษที่ควรบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศเมื่อพระครูวิเทศธรรมวิทิต เจ้าอาวาสวัดไทยนอร์เวย์ ได้เข้ารับการอบรมรับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์สายต่างประเทศได้มีคณะพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) จำนวน ๑๐ คน เกิดศรัทธาพร้อมใจกันลาหยุดงานเดินทางจากประเทศไทยมาขอรับการบรรพชาอุปสมบทเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ได้รับเป็นปฐมนาคเป็นพระภิกษุรุ่นแรก เป็นที่ปีติยินดีอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธในต่างประเทศที่ได้เข้าร่วมงาน ทำให้เกิดความคิดโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศสนองงานคณะสงฆ์ไทยต่อไป
การสอนธรรมสำหรับเยาวชนนักเรียนที่เข้าเยี่ยมชมวัดของโรงเรียนเป็นคณะในช่วงเปิดเทอม การเปิดสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยแก่ชาวต่างประเทศประจำสัปดาห์ได้รับความสนใจจากชาวนอร์เวย์สมัครเข้าเรียนทั้งที่มีภรรยาเป็นคนไทยและไม่มีครอบครัวเป็นคนไทย หากแต่สนใจเข้าเรียนเพื่อการเตรียมตัวเดินทางเข้ามาท่องเทียวชมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในประเทศไทย การสงเคราะห์อนุเคราะห์ที่พักอาศัยคนเดินทางไกล การให้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในการจัดกิจกรรมสำคัญในโอกาสวันสำคัญของชาติ ฯลฯ |
|
|